วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การถนอมอาหาร กล้วยน้ำว้า

การแปรรูปจากกล้วยดิบ 
         ๑.  การทำกล้วยอบเนย  กล้วยฉาบ หรือ กล้วยกรอบแก้วใช้กล้วยดิบ  เช่น กล้วยน้ำว้า  กล้วยหอม  กล้วยหักมุก  นำ มาฝานบางๆ ตามยาว  หรือตามขวาง อาจจะผึ่งลมสักครู่  หรือฝานลงกระทะทันทีก็ได้และทอดในกระทะที่ใส่น้ำมันท่วม เมื่อชิ้นกล้วยสุกจะลอย  ก็ตักขึ้นและซับน้ำมันด้วยกระดาษฟาง จากนั้นอาจนำไปคลุกเนย  เรียกว่า  กล้วยอบเนย หรือฉาบให้หวานด้วยการนำไปคลุกกับน้ำตาลที่เคี่ยวจนเกือบแห้งในกระทะ เรียกว่า กล้วยฉาบ หรือนำไปคลุกในน้ำเชื่อม แล้วเอาลงทอดอีกครั้งอย่างรวดเร็ว เรียกว่า กล้วยกรอบแก้ว
         ๒.  แป้งกล้วย นำกล้วยดิบมานึ่งให้สุก ปอกเปลือก หั่น และอบให้แห้งแล้วบดให้ละเอียดเป็นแป้ง ใช้ทำขนมกล้วยและบัวลอย หรือผสมกับแป้งเค้กใช้ทำคุกกี้ได้ ทำให้มีกลิ่นหอมของกล้วย

การแปรรูปจากกล้วยสุก 
         ๑.  น้ำผลไม้ นำเนื้อกล้วยที่สุกมาหมักใส่เอนไซม์เพกทิโนไลติก (pectinolytic) ความเข้มข้น ๐.๐๑ % เพื่อย่อย และบ่มไว้ที่อุณหภูมิ ๔๕ องศาเซลเซียส  นาน  ๑  ชั่วโมง จะได้น้ำกล้วยที่ใส
         ๒. เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์  ประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น ยูกันดา รวันดา บุรุนดี  คองโก และแทนซาเนีย นิยมนำกล้วยมาทำเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ต่ำ ในประเทศยูกันด เรียกเครื่องดื่มชนิดนี้ว่า  วารากิ (Waragi)  ประเทศฝรั่งเศสนำเนื้อกล้วยสุกบดเหลวผสมกับน้ำ และทำให้ร้อน ๖๕ - ๗๐ องศาเซลเซียส นาน ๑ ชั่วโมง แล้วทำให้เย็นลงที่อุณหภูมิ ๔๐ องศาเซลเซียส  ต่อมาใส่เอนไซม์เพกทิเนส (pectinase) ทิ้งไว้นาน ๒๔ ชั่วโมง ภายใต้บรรยากาศที่เพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์  นำส่วนที่เป็นกากมาบด แล้วนำส่วนที่เป็นน้ำมาหมักด้วยเชื้อ Saccharomyces  cerevisiae  ที่อุณหภูมิ ๒๕ องศาเซลเซียส     ภายใต้บรรยากาศที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ หรือไนโตรเจน จะได้สุราผลไม้ที่ทำจากกล้วย
         ๓.  กล้วยตาก (banana figs) นำกล้วยที่สุกงอมมาปอกเปลือก และนำไปตากแดด ๑ - ๒  แดด จากนั้นมาคลึงเพื่อให้กล้วยนุ่ม แล้วนำไปตากอีก ๕ - ๖  แดด หรือจนกว่ากล้วยจะแห้งตามต้องการ (ในทุกๆ วันที่เก็บให้นำกล้วยทั้งหมดมารวมกัน  น้ำหวานจากกล้วยจะออกมาทุกวัน และกล้วยจะฉ่ำ แล้วนำไปตากแดด)  ระวังอย่าให้แมลงวันตอม  ส่วนการตากอาจใช้แสงอาทิตย์  หรือเตาอบขนาดใหญ่ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์หรือไฟฟ้า
         ๔. กล้วยกวน นำกล้วยสุกงอมมายี แล้วเคล้ากับน้ำตาลและกะทิ นำไปกวนในกระทะที่ไม่เป็นสนิม กวนที่ไฟอ่อนๆ จน  สุกเหนียว ปั้นเป็นก้อนกลม หรือสี่เหลี่ยมแล้วห่อด้วยกระดาษแก้ว
         ๕.  ทอฟฟี่กล้วย คล้ายกล้วยกวน แต่ใส่แบะแซ จึงทำให้แข็งกว่ากล้วยกวน
         ๖.  ข้าวเกรียบกล้วย ใช้กล้วยสุกผสมกับแป้งและเกลือ อาจเติมน้ำตาลเล็กน้อยนวดแล้วทำเป็นแท่งยาวๆ นึ่งให้สุก  เมื่อสุก ปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น ฝานเป็นชิ้นบางๆ ตากแดดให้แห้ง แล้วนำมาทอดรับประทานเป็นอาหารว่าง ข้าวเกรียบกล้วยนี้หากใช้กล้วยที่มีกลิ่นจะทำให้หอม

        กล้วยนอกจากนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ  ที่ได้กล่าวมาแล้ว  คนไทยยังนำผล  ปลี  และหยวกกล้วยมาทำอาหารทั้งคาวและหวานอีกด้วย เช่น กล้วยเชื่อม  ขนม กล้วย  ข้าวต้มผัด  แกงเลียงหัวปลี  ยำหัวปลี  ทอดมันหัวปลี  และแกงหยวกกล้วย กล้วยจึงเป็นพืชที่คนไทยคุ้นเคยและใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของกล้วยได้นานัปการ




สรรพคุณ กล้วยน้ำว้า

กล้วยน้ำว้า เป็นกล้วยพันธุ์หนึ่ง พัฒนามาจากลูกผสมระหว่างกล้วยป่ากับกล้วยตานี บริโภคกันอย่างแพร่หลาย ปลูกง่าย รสชาติดี สำหรับกล้วยน้ำว้าแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ตามสีของเนื้อ คือ น้ำว้าแดง น้ำว้าขาว และน้ำว้าเหลือง คนไทยรับประทานกล้วยน้ำว้าทั้งผลสด ต้ม ปิ้ง และนำมาประกอบอาหาร นอกจากนี้ยังมีกล้วยน้ำว้าดำ ซึ่งเปลือกมีสีครั่งปนดำ แต่เนื้อมีสีขาว รสชาติอร่อยคล้ายกล้วยน้ำว้าขาว สำหรับกล้วยตีบเหมาะที่จะรับประทานผลสด เพราะเมื่อนำไปย่าง หรือต้มจะมีรสฝาด
กล้วยน้ำว้ามีชื่อพื้นเมืองอื่นเช่น กล้วยน้ำว้าเหลือง กล้วยใต้ หรือ กล้วยอ่อง เดิมจัดเป็นชนิด


คุณค่าทางอาหารและยา
กล้วยน้ำว้าเมื่อเทียบกับกล้วยหอมและกล้วยไข่ กล้วยน้ำว้าจะให้พลังงานมากที่สุด กล้วยน้ำว้าห่ามและสุกมีธาตุเหล็กในปริมาณสูง ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจาง มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินซีช่วยบำรุงกระดูก ฟัน และเหงือกให้แข็งแรง ช่วยให้ผิวพรรณดี มีเบต้าแคโรทีน ไนอาซีนและใยอาหาร ช่วยให้ระบบขับถ่ายคล่องขึ้น กินกล้วยน้ำว้าสุก จะช่วยระบายท้องและสามารถรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันในเด็กเล็กได้ ช่วยลดอาการเจ็บคอ เจ็บหน้าอกที่มีอาการไอแห้งร่วมด้วย โดยกินวันละ 4-6 ลูก แบ่งกินกี่ครั้ง ก็ได้ กินกล้วยก่อนแปรงฟันทุกวันจะทำให้ไม่มีกลิ่นปาก และผิวพรรณดี เห็นผลได้ใน 1 สัปดาห์ กล้วยน้ำว้าดิบและห่ามมีสารแทนนิน เพคตินมีฤทธิ์ฝาดสมาน รักษา อาการท้องเสียที่ไม่รุนแรงได้ โดยกินครั้งละครึ่งผล หรือ 1 ผล อาการท้องเสียจะทุเลาลง นอกจากนี้จากการศึกษาวิจัยยังพบว่า มีผลในการรักษาโรคกระเพาะได้อีกด้วย 

ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%A7%E0%B9%89%E0%B8%B2